
สาเหตุการเกิดกฤษณาที่ผ่านมามีการกล่าวอ้างและเข้าใจกันไปในลักษณะต่างๆ บางคนเข้าใจว่า เป็นแก่นของต้นกฤษณา บางคนเข้าใจว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะ ในต้นกฤษณาที่ตายแล้วหรือต้องตัดทิ้งให้ผุก่อน ทั้งนี้เนื่องจากผู้เก็บหา กฤษณาส่วนหนึ่งพบก้อนกฤษณาในต้นกฤษณาที่ผุแล้ว และทำให้เข้าใจว่า เชื้อราเป็นตัวการทำให้เกิดกฤษณาในต้นกฤษณา ด้วยเหตุนี้การศึกษาเกี่ยวกับการเกิดกฤษณาที่ผ่านๆ มาได้เน้นการศึกษาเชื้อราและความสัมพันธ์ของเชื้อรากับการเกิดกฤษณา ในประเทศต่างๆ ได้ให้ความสนใจและทำการศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 50 ปี และได้ผลในทำนองเดียวกันว่า เชื้อราเป็นตัวทำให้เกิดกฤษณา มีเชื้อราจำนวนมากถูกแยกออกมาจากเนื้อไม้ส่วนที่เป็นกฤษณา และได้มีการทดลองใส่เชื้อราเข้าไปในต้นกฤษณาเพื่อกระตุ้นให้ต้นไม้สร้างกฤษณา จากผลการทดลองดังกล่าวจะได้กฤษณาในปริมาณ เล็กน้อยหรือเนื้อไม้มีการผุเป็นบริเวณกว้าง
คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับกรมป่าไม้ ทำการศึกษาการเกิดกฤษณา ซึ่งผลจากการศึกษาครั้งนี้ได้ผลออกมาแตกต่างจากการศึกษาของนักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง ผลการศึกษาพบว่า การสร้างกฤษณาเป็นกระบวนการรักษาบาดแผลของต้นกฤษณา เชื้อราไม่ได้เป็นตัวการที่สำคัญ แต่ตัวการอะไรก็ตามที่ทำให้เนื้อไม้ของ ต้นกฤษณา เป็นแผลได้จะกระตุ้นให้ต้นกฤษณาสร้างกฤษณาใต้บาดแผล สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกฤษณาจะส่งมาบริเวณบาดแผลและปรากฏให้เห็นเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ภายใน 2 วัน สีน้ำตาลจะเข็มขึ้นเป็น สีน้ำตาลเข้ม ภายในเวลา 1 เดือน แต่ยังไม่ให้กลิ่นหอมหรือมีกลิ่นเพียงจาง ๆ เมื่อถูกเผา
เมื่อบาดแผลมีอายุประมาณ 3 เดือน มีการสะสมกฤษณาใต้บาดแผลมากขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ มีกลิ่นแรงเมื่อเผาการสะสมกฤษณายังคงมีอยู่ ตลอดเวลา เมื่ออายุของแผลเพิ่มมากขึ้นและเมื่อบาดแผลมีอายุประมาณ 8 เดือน - 1 ปี กฤษณา ที่สะสมจะมีสีน้ำตาลดำ หรือเกือบดำ จัดได้ว่าเป็น กฤษณาเกรด 1 แต่อย่างไรก็ตามกฤษณาที่เกิดขึ้นนี้จะปรากฏเพียงเป็น แถบแคบๆ กว้าง 1 - 2 มิลลิเมตร การใช้สารเคมีบางอย่างทาแผลที่ทำขึ้นผล ที่ได้แสดงแนวโน้มว่า มีการสะสมกฤษณาเป็นแถบกว้างขึ้น ซึ่งคณะผู้วิจัยกำลัง พยายามศึกษาต่อไป เพื่อสามารถกระตุ้นให้มีการสร้างกฤษณาได้มากกว่าที่ เป็นอยู่
การทดลองตอกตะปู เพื่อกระตุ้น ให้เกิดเชื้อราสร้างกฤษณา กฤษณาสามารถสร้างขึ้นได้ในต้นที่มีอายุต่างๆ ในต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 10 เซนติเมตร จนถึงขนาดใหญ่มาก ๆ และมีอายุมากเท่าไรก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากการศึกษากับต้นกฤษณาที่มีอายุ 1 ปี 6 เดือน ไม่สามารถตรวจสอบกลิ่นกฤษณาจากบาดแผลที่ทำขึ้นได้ ซึ่งแสดงว่าในต้นกฤษณาที่มีอายุน้อย มากๆ การกระตุ้นจะไม่ประสบผลสำเร็จ
ลักษณะเด่นของต้นกฤษณาลักษณะหนึ่ง คือ มีความสามารถในการรักษาบาดแผล และสร้างเนื้อเยื่อมาปิดบาดแผลได้ดีและเร็วมาก ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากภายในเนื้อไม้ของต้นกฤษณามีเนื้อเยื่อประเภทเดียวกับ เนื้อเยื่อของเปลือก (pholem) กระจายปนอยู่ทั่วไปและจำนวนมาก ทำให้สามารถสร้างเปลือกขึ้นปิดแผลได้ทุกแห่งภายในเนื้อไม้ จากลักษณะ อันนี้น่าจะมี ความเป็นไปได้ที่จะปลูกกฤษณาเพื่อผลิตกฤษณา เป็นการค้า ถ้ามีการจัดการทำบาดแผลบนต้นกฤษณา และหมุนเวียนเจาะให้มีระบบ แผลที่เจาะก็สามารถ กลับสู่สภาพปกติได้ ในขณะเดียวกันต้นกฤษณาก็จะเจริญเติบโตใหญ่ขึ้นได้ และสามารถให้ผลผลิตกฤษณาตลอดไปเช่นเดียวกับการปลูกไม้ผลเพื่อเก็บเกี่ยวผล
กล่าวโดยสรุปแล้วกฤษณาเป็นน้ำมันหรือยางที่สร้างขึ้นในต้นไม้สกุลไม้กฤษณา การสร้างกฤษณาเป็นผลมาจากการบาดเจ็บและเกิดบาดแผลในเนื้อไม้ ดังนั้นการกระตุ้นให้ต้นกฤษณาสร้างกฤษณาจึงเป็นสิ่งที่อาจปฏิบัติได้
|