การตัดแต่งกิ่ง ไม้กฤษณาส่วนมากจะแตกยอดออกเป็น 2 กิ่ง ควรตัดกิ่งที่มีใบใต้กิ่งออก จากนั้น ไม้กฤษณาจะมีกิ่งแขนงออกมาตามลำต้น ควรเก็บไว้เพื่อให้ไม้กฤษณา จะมีการสังเคราะห์แสงและปรุงอาหารหล่อเลี้ยงลำต้นได้ดีและจะมีลำต้นอ้วนใหญ่สมบูรณ์หลังจากลำต้นสูงใหญ่แล้วก็ค่อยๆ ตัดออกให้สมส่วนกับลำต้น แต่ถ้าไม่มีการตัดกิ่งจะทำให้ลำต้นเตี้ย กิ่งมาก โค่นล้มง่าย และการกระตุ้นสารไม่ดี
การใส่ปุ๋ย ในพื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ควรใส่มูลวัว มูลควาย ในช่วงกล้าไม้อายุตั้งแต่ 1-3 ปี ในอัตราส่วน 1-3 ก.ก./ต้น/เดือน หลังจาก 3 ปีแล้ว ก็ใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5 ก.ก./ต้น ควรใส่ในฤดูฝน เมื่อไม้หอมมีอายุ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ในพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ก็แทบจะไม่ต้องใส่ปุ๋ยเลย
การกำจัดวัชพืชต่างๆ ที่อยู่ใกล้โคนไม้หอมโดยการตัด หรือถางออก หรือใช้ผ้ายางขนาด 1 ม. X 1 ม. คลุมบริเวณโคนต้นแล้วสังเกตว่าวัชพืชเริ่มตายแล้วก็เอาผ้ายางออก เพราะถ้าคลุมไว้นาน จะเกิดเชื้อราโคนเน่าได้ แต่ไม่ควรใช้ยากำจัดวัชพืชโดยเฉพาะที่เป็นยาดูดซึม เช่น ไกลโฟเซต หรือยาคุมต่างๆ ส่วนศัตรูพืชที่สำคัญของไม้หอมในระยะ 1-3 ปี ได้แก่หนอนกินใบ หรือแมลงกินใบ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากผีเสื้อมาไข่ไว้บริเวณใบยอดของลำต้น ถ้าสังเกตจะมีใยสีขาวอยู่บริเวณใต้ใบเมื่อตัวอ่อนฟักตัวออกมาก็จะกินใบอ่อนของไม้หอมแทบหมดต้นทำให้ต้นไม้หอมชะงักการเจริญเติบโต มีวิธีป้องกันได้โดยหมั่นสังเกต และตรวจดูว่ามีใยสีขาว หรือมีแมลงรบกวนก็ควรฉีดยาจำพวกเซปวิน 85 หรือยาพวกถูกตัวแมลงหรือหนอนแล้วตาย แต่ถ้าไม้หอมมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไปส่วนใบไม้หอมขมมาก บางแห่งจะมีแมลงมาเจาะลำต้นในขณะที่ไม้หอมยังเล็กอยู่ (อายุ 1 - 2 ปี) ซึ่งไม้หอมยังไม่พร้อมให้แมลงเจาะเพราะจะทำให้ลำต้นหักโค่น หรือตายได้จึงสมควรกำจัดแมลงในช่วงนี้ด้วย แต่เมื่อไม้หอมอายุ 3 ปีขึ้นไป ถ้ามีแมลงเจาะลำต้น ซึ่งสังเกตได้จากมีขี้ขุยไม้กลมๆ สีขาวหล่นมาบริเวณโคนต้นคล้ายๆ เม็ดปุ๋ย นั่นแสดงว่าแมลงเริ่มทำงาน หรือเริ่มเจาะไม้หอมซึ่งจะทำให้เกิดน้ำมัน หรือสารกฤษณาขึ้นมาภายหลัง ฉะนั้นห้ามทำลายแมลงช่วงนี้โดยเด็ดขาด ส่วนศัตรูที่สำคัญของไม้หอมในช่วงเล็กๆ คือ พวกเชื้อราที่ทำให้เกิดโคนเน่า ราใบติด หรือเชื้อราลำต้น ซึ่งเมื่อไม้หอมแยกไปปลูกแล้ว จะเกิดเชื้อราน้อยมาก ยกเว้นพื้นที่แฉะ และน้ำท่วมขัง ป้องกันโดยทำร่องระบายน้ำไม่ให้น้ำท่วมขัง แต่เมื่อไม้หอมอายุ 3 ปี ไปแล้วก็ไม่ต้องใช้ยา
|